เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ จะทำอย่างไร
โดยส่วนมากแล้ว เรามักจะเห็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามกำหนดนัดกัน
แต่ก็ยังมีอยู่ ที่บางครั้งเราจะเห็นว่า ลูกหนี้อยากชำระหนี้ตามกำหนด แต่เป็นเจ้าหนี้เสียเองที่ไม่ยอมรับชำระหนี้
เช่นในกรณีเรื่องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกัน คู่สัญญาทำสัญญาต่อกันว่าให้ผู้จะซื้อผ่อนชำระค่าที่ดินเป็นงวดๆไป และเมื่อชำระเงินครบถ้วน ผู้จะขายก็จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อ
แต่บางครั้ง ก็เกิดปัญหา เช่นเมื่อผู้จะซื้อผ่อนชำระเงินค่าที่ดินให้แก่ผู้จะขายจนเกือบจะครบถ้วน หรือเหลือเพียงงวดสุดท้าย เป็นต้น
แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้เกิดเปลี่ยนใจไม่อยากจะขายที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อแล้ว
เช่นอาจจะเพราะว่ามีผู้อื่นสนใจ และเสนอราคาค่าที่ดินให้มากกว่าที่ผู้จะซื้อคนเดิมเคยเสนอไว้หรือทำสัญญาต่อกันไว้ จึงอยากจะไปขายให้คนใหม่ หรืออาจเพราะที่ดินมีปัญหาไม่สามารถโอนให้ได้
บางครั้งเจ้าหนี้จึงเลือกที่จะไม่ยอมรับชำหนี้ตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ ซึ่งหลายครั้งการชำระหนี้และรับชำระหนี้ก็จะกระทำกันเพียง
๒ คน คือผู้จะขายและผู้จะซื้อเท่านั้น
และเมื่อลูกหนี้ขอชำระหนี้ในวันที่กำหนด
แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ อีกทั้งบางครั้ง
การที่เจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้นั้น ทางลูกหนี้ก็ไม่มีเอกสารใดๆที่จะมายืนยันได้ว่าเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้
และอาจจะถูกกล่าวหาได้ว่าลูกหนี้เอง เป็นฝ่ายที่ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด
ซึ่งนั่นจะทำให้ลูกหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง
ดังนั้น
วิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ในกรณีนี้ ก็คือ การวางทรัพย์ ณ
ที่สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งส่วนมากจะตั้งอยู่ที่เดียวกันกับสำนักงานบังคับคดี
อนึ่ง
เมื่อลูกหนี้นำเงินหรือทรัพย์สินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาในสัญญาแล้ว
เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าลูกหนี้ได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาแล้ว แม้เจ้าหนี้จะไม่ได้มารับชำระหนี้ภายในวันดังกล่าว
ก็ไม่ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดหรือผิดสัญญาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เมื่อลูกหนี้วางทรัพย์ที่สำนักงานวางทรัพย์แล้ว
ก็ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังเจ้าหนี้ให้รับรู้ถึงการวางทรัพย์หรือการชำระหนี้นั้นด้วย
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๓๑ ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี
หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี
หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว
ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้
ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ
หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็นความผิดของตน
มาตรา ๓๓๓ การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ
สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้
ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
หรือกฎข้อบังคับเฉพาะการในเรื่องสำนักงานวางทรัพย์ เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ร้องขอ
ศาลจะต้องกำหนดสำนักงานวางทรัพย์ และตั้งแต่งผู้พิทักษ์ทรัพย์ที่วางนั้นขึ้น
ผู้วางต้องบอกกล่าวให้เจ้าหนี้ทราบการที่ได้วางทรัพย์นั้นโดยพลัน
หมายเหตุ *
บทความนี้เป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น
ผลทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง
หากข้อเท็จจริงแตกต่างไป วิธีปฏิบัติและผลย่อมแตกต่างไปด้วย
หากต้องการปรึกษากฎหมาย หรือคดีความ กรุณาสอบถามทนายความเพิ่มเติม
** ทนายเชียงใหม่ ทนายความเชียงใหม่
ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น