พระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๕

วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566

ฟ้องคดีเงินกู้ ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง

 

ฟ้องคดีเงินกู้ ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง

          อย่างแรกเลย ก็ต้องถามก่อนว่า กู้ยืมเงินกันไปกี่บาท

          เหตุผลที่ต้องถามนั้น ก็เพราะ จำนวนเงินที่กู้ยืมกันนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเป็นในการตอบคำถาม

          เพราะถ้าการกู้ยืมเงินไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท ในแง่ของหลักฐานแห่งการกู้มยืมเงินเป็นหนังสือนั้น ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้

          แต่ถ้าหาก มีการกู้ยืมเงินกันกว่า ๒,๐๐๐ บาท ขึ้นไป จำเป็นต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาฟ้องคดีด้วย

          แล้วคำว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ มันคืออะไร

          จะเป็นสัญญาเงินกู้ทั่วๆไป ที่เราเคยเห็น หรือต้องทำขึ้นมาเฉพาะเจาะจง หรือต้องมีข้อความอะไรเป็นพิเศษหรือไม่

          คำตอบคำว่า มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น จะเป็นสัญญาเงินกู้ทั่วๆไปก็ได้ หรือจะให้ทนายความร่างขึ้นมาเฉพาะเจาะจง หรือไม่ก็ได้ หรือจะเป็นเพียงเศษกระดาษที่มีข้อความเขียนก็ได้เช่นกัน

          ขอเพียงว่าได้ทำเป็นหนังสือ หรือถ้าเราเข้าใจโดยทั่วไป ก็คือมีตัวอักษรอยู่ในกระดาษ โดยควรจะมีอักษร หรือข้อความปรากฏได้ความว่า ใครกู้ยืมเงินใครไปจำนวนกี่บาท และให้ผู้ที่กู้ยืมเงินลงชื่อตนเองไว้ ก็เป็นอันว่า คือ หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถนำไปฟ้องคดีได้แล้ว

          ส่วนหลักฐานอื่น ก็เช่น หลักฐานการส่งมอบเงินให้แก่ผู้กู้ยืม , ข้อมูลผู้กู้ยืม เป็นต้น      

          นอกจากนี้ การคุยสนทนาทางไลน์ หรือทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ก็อาจจะเข้าความหมายของคำว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

          คือ ถ้าทำความเข้าใจอย่างง่าย แม้ไม่มีหลักฐานเป็นแผ่นกระดาษที่มีข้อความกู้ยืมและลงลายมือชื่อไว้ แต่ถ้ามีข้อความทางโปรแกรมไลน์ ก็อาจใช้เป็นหลักฐานฟ้องคดีได้        ซึ่งในส่วนนี้ จะมีเขียนถึงในบทความอื่นต่อไป

 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๖๕๓  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

.

. 

หมายเหตุ * บทความนี้เป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น ผลทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย หากข้อเท็จจริงแตกต่างไป วิธีปฏิบัติและผลย่อมแตกต่างไปด้วย หากต้องการปรึกษากฎหมาย หรือคดีความ กรุณาสอบถามทนายความเพิ่มเติม

.

** ทนายเชียงใหม่ ทนายความเชียงใหม่ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

 

วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2566

ฟ้องคดีเงินกู้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าไร

 

ฟ้องคดีเงินกู้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าไร


          ในส่วนค่าขึ้นศาลนั้น ส่วนมากก็จะคำนวณในอัตราร้อยละ ๒ บาท ทำความเข้าใจง่ายๆก็คือ ฟ้องเรียกเงิน ๑๐๐ บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล ๒ บาท นั่นเอง


          สมมติว่าถ้าเราต้องการฟ้องลูกหนี้เงินกู้จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าขึ้นศาลร้อยละ ๒ ก็จะเท่ากับ ๒๐,๐๐๐ บาท


          แสดงว่าเราต้องเสียธรรมเนียมศาล หรือค่าขึ้นศาลส่วนนี้ให้แก่ศาลจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท


          แต่การเสียค่าขึ้นศาลนี้ ก็มิใช่จะเสียโดยการคำนวณร้อยละ ๒ ไปตลอด


          ยกตัวอย่างเช่น เราฟ้องลูกหนี้คดีเงินกู้ในจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท


          ถ้าคำนวณร้อยละ ๒ ของ ๓๐๐,๐๐๐ บาท จะเท่ากับ ๖,๐๐๐ บาท แต่ในการเสียค่าขึ้นศาลกรณีนี้ เราไม่จำต้องเสียค่าขึ้นศาล ๖,๐๐๐ บาท แต่อย่างใด  


          แต่จะเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๑,๐๐๐ บาท เท่านั้น


          เหตุผลก็เพราะว่าตามกฎหมายแล้ว คดีที่เราฟ้อง ถ้าทุนทรัพย์หรือเงินที่เราฟ้องเรียกร้องไปนั้น ไม่เกินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท จะเสียค่าขึ้นเพียง ๑,๐๐๐ บาท เท่านั้น


          แต่ก็ไม่ใช่ว่า ถ้าเราฟ้องไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แล้วเราต้องเสียค่าขึ้นศาล ๑,๐๐๐ บาท ไปตลอด


          เช่น ถ้าเราฟ้องคดีเงินกู้ ทุนทรัพย์เพียง ๔๐,๐๐๐ บาท คำนวณร้อยละ ๒ แล้ว จะเท่ากับจำนวน ๘๐๐ บาท  กรณีนี้ เราก็เสียค่าขึ้นศาลเพียง ๘๐๐ บาท เท่านั้น ไม่จำต้องเสีย ๑,๐๐๐ บาท แต่อย่างใด


          ก็หมายความว่า ถ้าเราฟ้องคดีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท เราก็เสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ ๒ แต่ถ้าเกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ก็เสียค่าขึ้นศาลเพียง ๑,๐๐๐ บาท เท่านั้น


          ทั้งนี้ ค่าขึ้นศาลที่เราจ่ายไป เราก็ยังมีโอกาสได้กลับคืนมาอีกด้วย บทนี้เพียงเท่านี้ก่อน ในส่วนอื่นจะเล่าในบทความอื่นต่อไปครับ

.

. 

หมายเหตุ * บทความนี้เป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น ผลทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย หากข้อเท็จจริงแตกต่างไป วิธีปฏิบัติและผลย่อมแตกต่างไปด้วย หากต้องการปรึกษากฎหมาย หรือคดีความ กรุณาสอบถามทนายความเพิ่มเติม

.

** ทนายเชียงใหม่ ทนายความเชียงใหม่ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

 

 

วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2566

ศาลนัดฟังคำพิพากษา ต้องทำอย่างไรบ้าง

 

ศาลนัดฟังคำพิพากษา ต้องทำอย่างไรบ้าง

                   นัดฟังคำพิพากษา เป็นขั้นตอนภายหลังจากที่คดีนั้นๆได้มีการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว

                   นัดฟังคำพิพากษา คือ การที่ศาลนัดให้คู่ความในคดีมาฟังคำตัดสินของศาลเกี่ยวกับคดีนั้นๆ ว่าศาลจะตัดสินข้อพิพาท หรือข้อโต้แย้งที่คู่กรณีได้ต่อสู้กัน ว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะคดี และชนะอย่างไร หรือจะให้ฝ่ายที่แพ้คดีต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง

                   แล้วในวันฟังคำพิพากษา ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

                   ในวันฟังคำพิพากษา ส่วนมากจะเป็นขั้นตอนที่เกิดหลังจากที่การพิจารณาคดีเกี่ยวกับประเด็นในคดีครบถ้วนไปหมดแล้ว ดังนี้ในวันฟังคำพิพากษา ส่วนมากคู่กรณีในคดีก็เพียงแต่มาศาล เพื่อฟังว่าจะตัดสินว่าอย่างไรบ้าง

                   แล้วเมื่อฟังคำพิพากษาเสร็จแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อ        

                   เมื่อฟังคำพิพากษาเสร็จแล้ว ส่วนมากคู่ความก็จะทำการขอคัดถ่ายคำพิพากษาของศาล เพื่อนำไปศึกษา และดูว่าฝ่ายของตนเองเห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

                   ทั้งนี้ หากเป็นการนัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น อาจจะยังไม่สามารถขอคัดถ่ายคำพิพากษาได้ในทันที เพราะอาจจะต้องรอให้มีการเรียงพิมพ์คำพิพากษาเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน จึงจะขอคัดถ่ายได้ ส่วนระยะเวลาจะใช้อีกเท่าใด ก็ต้องสอบถามที่เจ้าหน้าที่ศาลนั้นๆที่เราไปฟังคำพิพากษา

                   แต่หากเป็นกรณีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนมากที่เห็น คำพิพากษาชั้นอุทธรณ์จะพิมพ์มาเสร็จเรียบร้อยแล้ว  คู่ความสามารถขอคัดถ่ายคำพิพากษาในวันดังกล่าวได้เลย แต่ทั้งนี้ ก็ต้องสอบถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

.

 

หมายเหตุ * บทความนี้เป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น ผลทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย หากข้อเท็จจริงแตกต่างไป วิธีปฏิบัติและผลย่อมแตกต่างไปด้วย หากต้องการปรึกษากฎหมาย หรือคดีความ กรุณาสอบถามทนายความเพิ่มเติม

.

** ทนายเชียงใหม่ ทนายความเชียงใหม่ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2566

เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ จะทำอย่างไร

 เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ จะทำอย่างไร


          โดยส่วนมากแล้ว เรามักจะเห็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามกำหนดนัดกัน

          แต่ก็ยังมีอยู่ ที่บางครั้งเราจะเห็นว่า ลูกหนี้อยากชำระหนี้ตามกำหนด แต่เป็นเจ้าหนี้เสียเองที่ไม่ยอมรับชำระหนี้


          เช่นในกรณีเรื่องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกัน คู่สัญญาทำสัญญาต่อกันว่าให้ผู้จะซื้อผ่อนชำระค่าที่ดินเป็นงวดๆไป และเมื่อชำระเงินครบถ้วน ผู้จะขายก็จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อ


          แต่บางครั้ง ก็เกิดปัญหา เช่นเมื่อผู้จะซื้อผ่อนชำระเงินค่าที่ดินให้แก่ผู้จะขายจนเกือบจะครบถ้วน หรือเหลือเพียงงวดสุดท้าย เป็นต้น

          แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้เกิดเปลี่ยนใจไม่อยากจะขายที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อแล้ว เช่นอาจจะเพราะว่ามีผู้อื่นสนใจ และเสนอราคาค่าที่ดินให้มากกว่าที่ผู้จะซื้อคนเดิมเคยเสนอไว้หรือทำสัญญาต่อกันไว้  จึงอยากจะไปขายให้คนใหม่  หรืออาจเพราะที่ดินมีปัญหาไม่สามารถโอนให้ได้


          บางครั้งเจ้าหนี้จึงเลือกที่จะไม่ยอมรับชำหนี้ตามกำหนดที่ตกลงกันไว้  ซึ่งหลายครั้งการชำระหนี้และรับชำระหนี้ก็จะกระทำกันเพียง ๒ คน คือผู้จะขายและผู้จะซื้อเท่านั้น

          และเมื่อลูกหนี้ขอชำระหนี้ในวันที่กำหนด แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ อีกทั้งบางครั้ง การที่เจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้นั้น ทางลูกหนี้ก็ไม่มีเอกสารใดๆที่จะมายืนยันได้ว่าเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ และอาจจะถูกกล่าวหาได้ว่าลูกหนี้เอง เป็นฝ่ายที่ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ซึ่งนั่นจะทำให้ลูกหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง


          ดังนั้น วิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ในกรณีนี้ ก็คือ การวางทรัพย์ ณ ที่สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งส่วนมากจะตั้งอยู่ที่เดียวกันกับสำนักงานบังคับคดี

          อนึ่ง เมื่อลูกหนี้นำเงินหรือทรัพย์สินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาในสัญญาแล้ว เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าลูกหนี้ได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาแล้ว  แม้เจ้าหนี้จะไม่ได้มารับชำระหนี้ภายในวันดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดหรือผิดสัญญาแต่อย่างใด

          ทั้งนี้ เมื่อลูกหนี้วางทรัพย์ที่สำนักงานวางทรัพย์แล้ว ก็ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังเจ้าหนี้ให้รับรู้ถึงการวางทรัพย์หรือการชำระหนี้นั้นด้วย

 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา ๓๓๑  ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็นความผิดของตน

มาตรา ๓๓๓  การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้

ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับเฉพาะการในเรื่องสำนักงานวางทรัพย์ เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ร้องขอ ศาลจะต้องกำหนดสำนักงานวางทรัพย์ และตั้งแต่งผู้พิทักษ์ทรัพย์ที่วางนั้นขึ้น

ผู้วางต้องบอกกล่าวให้เจ้าหนี้ทราบการที่ได้วางทรัพย์นั้นโดยพลัน


 

หมายเหตุ * บทความนี้เป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น ผลทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง หากข้อเท็จจริงแตกต่างไป วิธีปฏิบัติและผลย่อมแตกต่างไปด้วย หากต้องการปรึกษากฎหมาย หรือคดีความ กรุณาสอบถามทนายความเพิ่มเติม


** ทนายเชียงใหม่ ทนายความเชียงใหม่ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

 

 

         

         

         

วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2566

การสืบทรัพย์จำเลยทำอย่างไร


 

ารสืบทรัพย์จำเลยทำอย่างไร


          การสืบทรัพย์ คือ ขั้นตอนหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีแล้ว โดยศาลมีคำสั่งให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์


          โจทก์จึงจำเป็นต้องสืบดูว่าจำเลยมีทรัพย์สินอะไรบ้างที่จะนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลได้บ้าง


          การสืบทรัพย์ของจำเลยก็จะสืบได้อยู่หลายอย่าง อาทิ บ้าน ที่ดิน และ รถ


          การที่จะไปสืบทรัพย์นั้น เอกสารที่ใช้นั้น เช่น คำพิพากษา หมายบังคับคดี สำเนาทะเบียนราษฎร์ของจำเลย เป็นต้น


          โดยการนำเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอคัดถ่ายเอกสารที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของจำเลยในทรัพย์สินนั้นๆ เพื่อจะได้นำไปยึดหรืออายัดทรัพย์นั้นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อไป


          เช่น ถ้าจะสืบความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของจำเลยเกี่ยวกับรถ ก็ต้องนำเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยื่นคำขอต่อกรมขนส่ง  ถ้าจะสืบความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของจำเลยเกี่ยวกับบ้าน ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องนำเอกสารที่เกี่ยวข้องไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินนั้นๆที่ทรัพย์ของจำเลยนั้นตั้งอยู่ เป็นต้น


          และเมื่อได้เอกสารความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว ก็จะนำเอกสารนั้นไปดำเนินการตั้งเรื่องบังคับคดีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อไป

.

 

หมายเหตุ * บทความนี้เป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น ผลทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง หากข้อเท็จจริงแตกต่างไป วิธีปฏิบัติและผลย่อมแตกต่างไปด้วย หากต้องการปรึกษากฎหมาย กรุณาสอบถามทนายความเพิ่มเติม

.

** ทนายเชียงใหม่ ทนายความเชียงใหม่ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

 

         

วันเสาร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2566

ศาลพิพากษาให้ชนะคดีแล้ว ต้องทำอย่างไร


ศาลพิพากษาให้ชนะคดีแล้ว ต้องทำอย่างไร

          ยกตัวอย่างคดีเงินกู้ ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ แต่ปรากฎว่าจำเลยไม่ยินยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาล

          สิ่งที่โจทก์จะต้องดำเนินการต่อไป ก็คือการบังคับคดีจากจำเลย

          การบังคับคดีในที่นี้หมายถึง การที่โจทก์ใช้ขั้นตอนตามกฎหมายบังคับให้เอาทรัพย์สินของจำเลยมาชำระหนี้แก่โจทก์

          โดยการบังคับคดีนี้ สามารถบังคับเอาจากทรัพย์สินของจำเลยได้หลายอย่าง เช่น รถ , ที่ดิน , บ้าน เป็นต้น

          แล้วขั้นตอนในการบังคับคดีต้องทำอย่างไร

          อย่างแรกเลยก็ต้องให้ศาลมีคำพิพากษาก่อน

          ลำดับต่อมาเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ส่วนมากก็จะต้องมีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลย

          แล้วคำบังคับคืออะไร

          ถ้าอธิบายสั้นๆ คำบังคับ ก็คือ เอกสารที่มีข้อความระบุว่าจำเลยต้องชำระหนี้อะไรให้แก่โจทก์ นั่นเอง

          และเมื่อส่งคำบังคับแล้ว ปกติคำบังคับนั้น ก็จะมีระยะเวลาที่จำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล

          และเมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติ ก็คือจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำสั่งของศาล

          ขั้นตอนต่อไป ทางโจทก์ก็ต้องขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อจะได้ดำเนินการสืบทรัพย์ และบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของจำเลยต่อไป

.

 

หมายเหตุ * บทความนี้เป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น ผลทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง หากข้อเท็จจริงแตกต่างไป วิธีปฏิบัติและผลย่อมแตกต่างไปด้วย หากต้องการปรึกษากฎหมาย หรือคดีความ กรุณาสอบถามทนายความเพิ่มเติม

.

** ทนายเชียงใหม่ ทนายความเชียงใหม่ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566

ผู้จัดการมรดกคืออะไร

 



ผู้จัดการมรดกคืออะไร

          ผู้จัดการมรดก ก็คือบุคคลที่มีหน้าที่ต้องจัดการทรัพย์สินของคนที่ตายไปแล้ว และต้องจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย


          ในที่นี้คำว่า ผู้จัดการมรดก จะขอหมายถึงผู้จัดการมรดกตามที่ศาลได้มีการแต่งตั้ง


          แล้วเมื่อไร ถึงจะต้องมีการให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก

          โดยส่วนมาก ก็ต่อเมื่อไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกของคนตายให้แก่ทายาทได้ เช่น คนตายมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน ๑ แปลง และได้ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินแล้ว แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องให้ผู้จัดการมรดกที่ศาลแต่งตั้ง เป็นผู้มาติดต่อดำเนินการแบ่งปันให้แก่ทายาท เป็นต้น


          แล้วใคร ที่มีสิทธิยื่นร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้

          ได้แก่ ทายาท , ผู้มีส่วนได้เสีย , พนักงานอัยการ


          ลำดับต่อมา แล้วใคร ที่สามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้

          ก็ต้องเป็นบุคคลที่ศาลเห็นเหมาะสม สมควรให้เป็นผู้จัดการมรดกของคนตายคนนั้นได้


          แล้วอย่างไรถึงจะเรียกได้ว่า เหมาะสม สมควร

          อย่างน้อยบุคคลนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ , ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต , ไม่เป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถ , ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น

          ส่วนเหตุสมควร หรือเหมาะสมอื่นๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลเป็นคดีๆไป

 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา ๑๗๑๓  ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์

(๒) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

(๓) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ

การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

 

          มาตรา ๑๗๑๘  บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

(๑) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(๒) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

(๓) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย


 

หมายเหตุ * บทความนี้เป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น ผลทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง หากข้อเท็จจริงแตกต่างไป วิธีปฏิบัติและผลย่อมแตกต่างไปด้วย หากต้องการปรึกษากฎหมาย กรุณาสอบถามทนายความเพิ่มเติม


** ทนายเชียงใหม่ ทนายความเชียงใหม่ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร